INFORMATION
     
 
       กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นการสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กล่าวคือ เมื่อเราไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
ถึงแม้เราจะพยายามออกแรงเต็มที่ก็ตาม อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติทางระบบประสาท
เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อ สมองจะต้องสร้างสัญญาณ ผ่านเซลล์ประสาทในก้านสมอง ไขสันหลัง ไปยังเส้นประสาทส่วนปลาย เพื่อส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อให้เกิดการทำงาน นอกจากนี้ เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อจะต้องสามารถทำงานได้อย่างปกติ หดตัวเพื่อตอบสนอง ต่อสัญญาณจากเส้นประสาท ดังนั้น ความอ่อนแรงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีส่วนหนึ่งของ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ หรือการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดโรคขึ้น
 
          กล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจจะเกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ความอ่อนแรง อาจจะมีผลต่อกล้ามเนื้อทั้งหมดของร่างกาย หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ตัวอย่างเช่นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อาจทำให้ร่างกายเกิดการอ่อนแรงครึ่งซีกซ้ายหรือขวา ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ได้รับบาดเจ็บของสมอง และโรคไขสันหลังอาจทำให้ขาอ่อนแรงซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ได้รับบาดเจ็บของไขสันหลัง อาการขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อส่วนใดที่ได้รับผลกระทบ
 
สาเหตุที่พบได้บ่อย
  • โรคหลอดเลือดสมอง (สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของกล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก)
  •  โรคไขสันหลังบาดเจ็บ
  •  โรคที่เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง (SLE,MG)
  •  โรคที่เกิดการกดทับเส้นประสาท เช่น กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (HNP)
  •  โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS)
  • โรคเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ (ALS)
  • โรคที่มีการกดทับไขสันหลัง เช่น มะเร็งที่ลุกลามไปยังไขสันหลัง ( Epidural Cancer metastasis )
  • อุบัติเหตุ
       กล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมีแนวโน้มลดลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากผู้สูงอายุอาจมีใช้งานกล้ามเนื้อลดลง ทำกิจกรรมน้อยลง และการผลิตฮอร์โมนที่กระตุ้นการพัฒนาของกล้ามเนื้อลดลง การเสื่อมสภาพจากการไม่เคลื่อนไหว อันเนื่องมาจากการการเจ็บป่วยหรือความอ่อนล้า โดยเฉพราะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุ การสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยทั่วไป เนื่องจากจำกัดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เช่น การพักฟื้นหลังผ่าตัด การพักฟื้นในหอผู้ป่วยหนัก (ICU)เป็นเวลานาน ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า ICU Myopathy โรคที่อาจเกิดได้ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากผลข้างเคียงการใช้ยา รวมไปถึงโรคหลอดสมองตีบตัน (Ischemic Stroke) โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorhagic stroke) เป็นอีกโรคที่ได้บ่อยในผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ยังส่งผลต่อการเดิน การทรงตัว ในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ การหกล้มตามมา อาจร้ายแรงอาจนำไปสู่การทุพพลภาพได้
 
สัญญาณเตือน!
อาการต่อไปนี้เป็นสาเหตุของความกังวล
  • กำมือไม่ได้ ยกแขน หรือขาไม่ขึ้น อาการรุนแรงมากขึ้นในไม่กี่วัน
  • หายใจลำบาก
  • เคี้ยว พูด หรือกลืนลำบาก
  • สูญเสียความสามารถในการเดิน
  • หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและให้การรักษาโดยด่วน
การบำบัดฟื้นฟูในผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
 
  • กายภาพบำบัด การออกกำลังกายเพื่อป้องกันข้อยึดติด การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ การฝึกการทรงตัว ฝึกเดิน การฝึกการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
  • กิจกรรมบำบัด ช่วยในเรื่องการกระตุ้นการกลืน การออกเสียง และกิจกรรมบำบัดเป็นการบำบัดเพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ทั้งการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งกาย การอาบน้ำ เป็นต้น
  • โภชนบำบัด ดูแลเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับแคลอรี่และสารอาหารที่เหมาะสม โดยเลี่ยงอาหารที่กลืนได้ลำบาก เพื่อป้องกันการสำลัก และในบางกรณีอาจต้องใส่ท่อให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารด้วย
  • การช่วยเหลือด้านจิตวิทยาความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา เพื่อให้ได้รับการดูแลด้านสภาพจิตใจและอารมณ์ของทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว
 
อ้างอิง : Global Medical Knowledge.
 
 
 
สอบถามข้อมูล